วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อวกาศหรือดวงดาว


ภาพรวมของจักรวาล
จักรวาล และ เอกภพ
“จักรวาล” และ “เอกภพ” เป็นคำๆ ที่มีความหมายเหมือนกัน ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Universe” ซึ่งหมายถึง ทุกสรรพสิ่งทั้งหมดทั้งปวง จักรวาลเป็นภาษาพูด เอกภพเป็นภาษาวิชาการ แต่ในสังคมทั่วไปเรานิยมใช้คำว่า “จักรวาล” เช่น ท่องอวกาศสำรวจจักรวาล เรามักใช้คำว่า “เอกภพ” ในโอกาสที่เน้นว่าทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่น เอกภพเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งหมื่นห้าพันล้านปีมาแล้ว ปัจจุบันเอกภพกำลังขยายตัว
วิชาดาราศาสตร์
ดาราศาสตร์ (Astronomy) เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาธรรมชาติของวัตถุท้องฟ้า และค้นหา
ความจริงของจักรวาล โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์เป็นวิชาที่เก่าแก่ที่สุดของ
มนุษยชาติ หากมองย้อนอดีต จะพบว่า ชาติมหาอำนาจและทุกอารยธรรม ล้วนให้ความสำคัญต่อ
เทห์วัตถุและปรากฎการณ์บนท้องฟ้า ทุกศาสนามีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับโลกและดวงดาว โบราณ
สถานที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น ปิรามิด ปราสาท สถูป เจดีย์ ล้วนวางตัวในแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก
อันเป็นสัญลักษณ์ของการให้ความเคารพต่อดวงอาทิตย์ การศึกษาเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์
ดวงจันทร์ และดวงดาวบนท้องฟ้า นำมาซึ่งพัฒนาการทางด้านคณิตศาสตร์ กลุ่มดาวจักราศี 12 กลุ่ม
ที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ผ่าน ถูกตั้งเป็นชื่อเดือน ในขณะที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ที่มอง
เห็นด้วยตาเปล่าอีกห้าดวง ถูกตั้งเป็นชื่อวันทั้งเจ็ดของสัปดาห์


ภาพที่ 1 ปิระมิด ซึ่งเรียงตัวแนว เหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก
มนุษย์ใช้ตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดวงดาวเป็นตัวกำหนดชั่วโมงและวัน และใช้ช่วงเวลาที่โลก
โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นตัวกำหนดเดือนและปี ซึ่งก็คือระบบนาฬิกาและระบบปฏิทินนั่นเองนับแต่โบราณ
มนุษย์ตระหนักดีถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุท้องฟ้ากับชีวิตประจำวัน ชาวประมงออกเรือจับปลาต้อง
สังเกตตำแหน่งของดวงจันทร์ ซึ่งทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง การทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ต้องสังเกต
ตำแหน่งของดวงอาทิตย์และกลุ่มดาวในรอบปี ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกฤดูกาล ทหารออกรบตอนกลางคืน ต้องทราบเวลาขึ้นตกของดวงจันทร์ เพื่อใช้ความมืดในการอำพรางตัว การทำงานและการพักผ่อนของ
มนุษย์ขึ้นอยู่กับเวลากลางวันกลางคืน ซึ่งถูกควบคุมด้วยการหมุนรอบตัวเองของโลก
การเรียนรู้ของมนุษย์เริ่มต้นจากประสบการณ์และประสาทสัมผัส เชื่อในสิ่งที่ตาเห็นก่อน แล้วจึง
ค่อยคิดหาเหตุผลมาอธิบายในภายหลัง ด้วยเหตุนี้มนุษย์ในยุคโบราณจึงเชื่อว่า โลกคือศูนย์กลางของ
เอกภพ กาลต่อมามีการสร้างกล้องดูดาวจึงพบหลักฐานซึ่งสามารถยืนยันว่า โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ มนุษย์ในอดีตต้องการทราบว่าขอบโลกอยู่ที่ไหน มนุษย์ในปัจจุบันต้องการทราบว่า ขอบของเอกภพอยู่
ที่ใด มีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวดวงอื่นหรือไม่ อนาคตของเอกภพจะเป็นอย่างไร การเดินทางระหว่างดวงดาว
จะทำได้อย่างไร

โลกแบน หรือโลกกลม

มนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์คิดว่า โลกแบน ทั้งนี้เป็นเพราะพวกเขามองเห็นว่าโลกเป็นพื้นที่
กว้างใหญ่สุดสายตา มีดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ผ่านเวลากลางวัน มีดวงจันทร์และดวงดาวเคลื่อนที่ผ่านเวลากลางคืน
ภาพที่ 2 แบบจำลอง โลกคือศูนย์กลางจักรวาล
หกร้อยปีก่อนคริสต์กาล พิธากอรัส นักปราชญ์ชาวกรีก ได้สร้างแบบจำลองของเอกภพ โดยมี
โลกเป็นศูนย์กลาง ถูกห้อมล้อมไว้ด้วยทรงกลมขนาดใหญ่เรียกว่า“ทรงกลมท้องฟ้า” ซึ่งบรรจุดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ 5 ดวง และดาวฤกษ์จำนวนมากมาย สามร้อยปีต่อมา อริสโตเติล นักปราชญ์   ชาวกรีก กล่าวว่า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เป็นทรงกลมที่โคจรรอบโลก ขณะที่ อริสตาชุส นักปราชญ์แห่ง
เมืองอเล็กซานเดรีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอียิปต์) กล่าวว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล มี
โลก ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ทั้งหลายโคจรล้อมรอบ ต่อมาอีกหนึ่งศตวรรษ อีราโทสธีนิส พบว่ามุม
ของแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบพื้นผิวโลก ณ เวลาเดียวกันของแต่ละตำบล ไม่ใช่มุมเดียวกัน เนื่องจาก
โลกกลม เขาคำนวณได้ว่า ดวงอาทิตย์ใหญ่กว่าโลก และโลกใหญ่กว่าดวงจันทร์

ตำแหน่งของโลกในเอกภพ
ค.ศ. 125 คลอเดียส ปโตเลมี นักปราชญ์ชาวกรีก ได้แต่งตำราดาราศาสตร์ฉบับแรกของโลกชื่อ “อัลมาเจสต์” ระบุว่า โลกเป็นทรงกลมอยู่ตรงใจกลางของจักรวาล การที่เราเห็นดาวเคราะห์ทั้งเจ็ด (รวม
ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์) เคลื่อนไปข้างหน้า แต่บางครั้งก็เคลื่อนที่ย้อนทาง (Retrograde) สวนกับ
กลุ่มดาวจักราศี เป็นเพราะดาวเคราะห์ทั้งเจ็ด เคลื่อนที่อยู่บนวงกลมขนาดเล็กซึ่งเรียกว่า “เอปิไซเคิล” (Epicycle)

ภาพที่ 3 แบบจำลองของปโตเลมี
ค.ศ.1514 โคเปอร์นิคัส ได้อธิบายว่า การที่เราเห็นดาวเคราะห์เคลื่อนที่ถอยหลังเป็นเพราะ โลก
ซึ่งเป็นดาวเคราะห์วงใน เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์เร็วกว่าดาวเคราะห์ชั้นนอกเช่น ดาวอังคาร เขาเสนอ
ทฤษฎีดวงอาทิตย์คือศูนย์กลางของระบบสุริยะ ในเวลาต่อมากาลิเลโอส่องกล้องดูดาวพฤหัสบดี และดาว
ศุกร์ จึงค้นพบหลักฐานที่ว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ และโจฮานเนส เคปเลอร์ ค้นพบว่า ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรี ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ไอแซค นิวตัน ค้นพบว่า ดวงดาว
ทั้งหลายดึงดูดกันด้วยแรงโน้มถ่วง ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ค้นพบระบบสุริยะของดาวฤกษ์ดวงอื่น (Extra Solar System) มากกว่า 200 ระบบ
ปลายคริสตศตวรรษที่ 18 วิลเลียม เฮอส์เชล ผู้ค้นพบดาวยูเรนัส ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่
ตรวจนับดาวในทางช้างเผือก เขาสันนิษฐานว่า ดวงอาทิตย์อยู่ที่ตำแหน่งใจกลางของกาแล็กซีทางช้าง
เผือกจนกระทั่งปี ค.ศ.1920 ฮาร์โลว์ แชพลีย์ ศึกษากระจุกดาวเปิดซึ่งอยู่ล้อมรอบกาแล็กซี จึงสามารถ
พิสูจน์ได้ว่า ตำแหน่งของดวงอาทิตย์อยู่ค่อนมาทางแขนของกาแล็กซี
ภาพที่ 4 แบบจำลองทางช้างเผือกของ เฮอร์เชล ซึ่งมีดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลาง

ค.ศ.1905 อัลเบิร์ต ไอสไตน์ ประกาศทฤษฎีสัมพัทธภาพเฉพาะ E = Mc2 พลังงานและมวลเป็น
สิ่งเดียวกัน พลังงานจำนวนมหาศาลอัดรวมกันเป็นสสารได้ นั่นคือ นิวเคลียร์ฟิวชัน พลังงานต้นกำเนิด
ของดาวฤกษ์ สิบปีต่อมาเขาประกาศทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ว่าด้วย มวลทำให้ภูมิศาสตร์ของอวกาศ
โค้ง และอธิบายว่า ดาวเคราะห์เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ มิใช่เป็นเพราะ แรงโน้มถ่วงระหว่างดาวอย่างที่
นิวตันอธิบาย แต่เป็นเพราะว่า มวลของดวงอาทิตย์ทำให้อวกาศโค้ง ดาวเคราะห์จึงจำต้องเคลื่อนที่เป็น
วงโค้งไปรอบๆ
ภาพที่ 4 อวกาศโค้ง
ค.ศ.1929 เอ็ดวิน ฮับเบิล จำแนกกาแล็กซีออกเป็นหลายประเภท และพบว่า สเปคตรัมของ
กาแล็กซีส่วนใหญ่มีปรากฏการณ์การเลื่อนทางแดง (Redshift) นั่นหมายถึง กาแล็กซีกำลังเคลื่อนที่
ออกจากโลก นั่นก็คือ เอกภพ (จักรวาล) กำลังขยายตัว
ค.ศ.1989 ยานอวกาศโคบี (COBE) พบว่า รังสีไมโครเวฟพื้นหลังของเอกภพ (Cosmic Microwave Background Radiation) มีอุณหภูมิไม่เท่ากัน เป็นหลักฐานยืนยันว่า เอกภพเย็นตัวลง
ไม่เท่ากันทุกตำบล กาแล็กซีจึงเกิดขึ้นเป็นกระจุกๆ ไม่กระจายตัวเท่าๆ กัน ในเอกภพ

ภาพที่ 5 อุณหภูมิของรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของเอกภพ
ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ค้นพบว่า เอกภพประกอบด้วยกาแล็กซีจำนวนมหาศาล กระจายตัวอยู่เป็นกระจุกๆ กาแล็กซีส่วนใหญ่กำลังเคลื่อนที่ออกจากโลก แสดงว่าเอกภพกำลังขยายตัว เมื่อคำนวณอัตราการขยายตัวของเอกภพย้อนกลับ จึงได้ผลลัพธ์ว่า เอกภพกำเนิดขึ้นจากจุดๆ หนึ่ง (Singularity) เมื่อประมาณ 13,000 ล้านปีมาแล้ว นักดาราศาสตร์พยายามค้นหาขอบจักรวาล แต่ดูเหมือนว่า ธรรมชาติไม่ต้องการให้เรารู้อนาคต ยิ่งส่องกล้องลึกเข้าไปในอวกาศมากเท่าใด ก็ยิ่งเห็นภาพลึกไปในอดีตมากเท่านั้น เพราะว่าแสงต้องใช้เวลาในการเดินทาง (เช่น กระจุกดาวลูกไก่อยู่ห่างจากโลก 400 ปีแสง ภาพที่เราเห็นในปัจจุบันคือแสงของกระจุกดาวลูกไก่เมื่อ 400 ปีที่แล้ว)
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Telescope) ถ่ายภาพกาแล็กซีที่ไกลที่สุด ระยะห่างหลายพันปีแสง พบว่าในอดีตนั้นกาแล็กซีเคยอยู่ใกล้กันจริง แสดงว่า เอกภพในยุคนั้นมีขนาดเล็ก ซึ่งยืนยันทฤษฎีบิ๊กแบง (Big Bang) เอกภพกำเนิดขึ้นจากจุดๆ หนึ่ง แล้วก็เกิดการระเบิดใหญ่ (Big Bang) ขึ้นมา นี่คือจุดกำเนิดของสรรพสิ่งและกาลเวลา เวลาต่อมาเอกภพขยายตัวและเย็นตัวลง พลังงานอัดแน่นเป็นสสาร กำเนิดเป็นกาแล็กซีและดาวขึ้นมา




ตำแหน่งของโลกในจักรวาล

โลก (The Earth)
โลกของเรามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12,756 กิโลเมตร โลกอยู่ห่าง
จากดวงอาทิตย์ 150 ล้านกิโลเมตร แสงอาทิตย์ต้องใช้เวลาเดินทางนาน 8 นาที กว่าจะถึงโลก



ระบบสุริยะ (Solar System)
ประกอบด้วยดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์อยู่ตรงศูนย์กลาง มีดาวเคราะห์ 9 ดวง เป็นบริวารโคจรล้อมรอบ ดาวเคราะห์แต่ละดวง อาจมีดวงจันทร์เป็น
บริวารโคจรล้อมรอบอีกทีหนึ่ง ดาวพลูโตอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 6 พันล้าน
กิโลเมตร แสงอาทิตย์ต้องใช้เวลาเดินทางนานมากกว่า 5 ชั่วโมงกว่าจะถึง
ดาวพลูโต

ดาวฤกษ์เพื่อนบ้าน (Stars)
ดาวฤกษ์แต่ละดวงอาจมีระบบดาวเคราะห์เป็นบริวาร เช่นเดียวกับ
ระบบสุริยะของเรา ดาวฤกษ์แต่ละดวงอยู่ห่างกัน เป็นระยะทางหลายล้านล้าน
กิโลเมตร ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ที่สุดของดวงอาทิตย์ชื่อ “ปร๊อกซิมา เซนทอรี” (Proxima Centauri) อยู่ห่างออกไป 40 ล้านล้านกิโลเมตร หรือ 4.2 ปีแสง ดาวฤกษ์ซึ่งมองเห็นเป็นดวงสว่างบนท้องฟ้า ส่วนมากจะอยู่ห่างไม่เกิน
2,000 ปีแสง

กาแล็กซี (Galaxy)
กาแล็กซีคืออาณาจักรของดวงดาว กาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา มี
รูปร่างเหมือนกังหัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 แสนปีแสง ประกอบด้วย
ดาวฤกษ์ประมาณ 1 พันล้านดวง ดวงอาทิตย์ของเราอยู่ห่างจากใจกลางของ
กาแล็กซีเป็นระยะทางประมาณ 3 หมื่นปีแสง หรือ 2 ใน 3 ของรัศมี



กระจุกกาแล็กซี (Cluster of galaxies)
กาแล็กซีมิได้อยู่กระจายตัวด้วยระยะห่างเท่า ๆ กัน หากแต่อยู่รวม
กันเป็นกลุ่ม (Group) หรือกระจุก (Cluster) “กลุ่มกาแล็กซีของเรา” (The Local Group) ประกอบด้วยกาแล็กซีมากกว่า 10 กาแล็กซี กาแล็กซีเพื่อน
บ้านของเรา มีชื่อว่า “กาแลกซีแอนโดรมีดา” (Andromeda galaxy) อยู่ห่าง
ออกไป 2.3 ล้านปีแสง กลุ่มกาแล็กซีท้องถิ่นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 ล้านปีแสง

ซูเปอร์คลัสเตอร์ (Supercluster)
ซูเปอร์คลัสเตอร์ ประกอบด้วยกระจุกกาแล็กซีหลายกระจุก “ซูเปอร์
คลัสเตอร์ของเรา” (The local supercluster)
มีกาแล็กซีประมาณ 2 พัน
กาแล็กซี ตรงใจกลางเป็นที่ตั้งของ “กระจุกเวอร์โก” (Virgo cluster) ซึ่ง
ประกอบด้วยกาแล็กซีประมาณ 50 กาแล็กซี อยู่ห่างออกไป 65 ล้านปีแสง กลุ่มกาแล็กซีท้องถิ่นของเรา กำลังเคลื่อนที่ออกจากกระจุกเวอร์โก ด้วย
ความเร็ว 400 กิโลเมตร/วินาที



เอกภพ (Universe)
“เอกภพ” หรือ “จักรวาล” หมายถึง อาณาบริเวณโดยรวม ซึ่งบรรจุ
ทุกสรรพสิ่งทั้งหมด  นักดาราศาสตร์ยังไม่ทราบว่า ขอบของเอกภพสิ้นสุดที่
ตรงไหน แต่พวกเขาพบว่ากระจุกกาแล็กซีกำลังเคลื่อนที่ออกจากกัน นั่น
แสดงให้เห็นว่าเอกภพกำลังขยายตัว เมื่อคำนวณย้อนกลับนักดาราศาสตร์
พบว่า เมื่อก่อนทุกสรรพสิ่งเป็นจุด ๆ เดียว เอกภพถือกำเนิดขึ้นด้วย “การระ
เบิดใหญ่” (Big Bang)
เมื่อประมาณ 13,000 ล้านปีมาแล้ว


เทห์วัตถุท้องฟ้า

ในเวลาค่ำคืนที่ฟ้าใสไร้เมฆ ปราศจากแสงรบกวน หากแหงนหน้ามองดูท้องฟ้าด้วยตาเปล่า จะ
พบเทห์วัตถุท้องฟ้า (Celestial objects) นานาชนิด มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ อยู่ห่างจากตัวเราด้วยระยะ
ทางที่ต่างกัน นับตั้งแต่ ดวงจันทร์ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 386,000 กิโลเมตร ไปจนถึงกาแล็กซีแอนโดรเมดา ซึ่งอยู่ห่างออกไป 2.3 ล้านปีแสง (1 ปีแสง = ระยะทางซึ่งแสงใช้เวลานาน 1 ปี หรือ 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร)

ระบบสุริยะ (Solar system)

ดวงอาทิตย์ (The Sun)

เป็นดาวฤกษ์ซึ่งอยู่ตรงกลางระบบสุริยะ มีดาวเคราะห์เป็นบริวารโคจรล้อมรอบ อุณหภูมิที่ใจกลางของดวงอาทิตย์สูงถึง 15 ล้านองศาเซลเซียส เนื่องจากอะตอม
ของไฮโดรเจนรวมตัวเป็นฮีเลียม อุณหภูมิพื้นผิว 5,800°C ดวงอาทิตย์มีขนาด
เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4 ล้านกิโลเมตร

ดาวเคราะห์ (Planet)

เป็นบริวารของดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรามี 8 ดวง แบ่งเป็น  ดาวเคราะห์แข็ง (พุธ ศุกร์ โลก อังคาร) และดาวเคราะห์ก๊าซ (พฤหัสบดี เสาร์ ยูเรนัส เนปจูน) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 4,880 กิโลเมตร (ดาวพุธ) ถึง 142,984 กิโลเมตร (ดาวพฤหัสบดี)

ดวงจันทร์ (Satellite)

เป็นบริวารของดาวเคราะห์อีกทีหนึ่ง โลกมีดวงจันทร์ 1 ดวง แต่ดาวเคราะห์ยักษ์ เช่น ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์มากกว่า 20 ดวง ดวงจันทร์มีหลายขนาด ตั้งแต่ 12 กิโลเมตร จนถึง 5,262 กิโลเมตร ดวงจันทร์ของโลกมีชื่อว่า “The Moon” มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,476 กิโลเมตร

ดาวเคราะห์แคระ (Dwarf Planet)

เป็นวัตถุรูปทรงค่อนข้างกลม มีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์ มีขนาดประมาณ  400 – 2400 กิโลเมตร และมีวงโคจรซ้อนทับกับดาวดวงอื่น แต่ไม่อยู่ในระนาบ
สุริยวิถี ตัวอย่างเช่น ดาวพลูโต เป็นต้น

ดาวเคราะห์น้อย (Asteroid)

เป็นบริวารขนาดเล็กของระบบสุริยะ มีขนาดตั้งแต่ 1 กิโลเมตร จนถึง 400 กิโลเมตร ส่วนมากจะอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับวงโคจรของดาว
พฤหัสบดี วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยบางดวง มีวงโคจรที่ตัดกับวงโคจรของ
โลกในบางครั้งเศษฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อย ถูกดูดให้ตกลงเสียดสีกับบรรยากาศ
โลก ลุกไหม้ติดไฟ ทำให้เรามองเห็นเป็น “ฝนดาวตก” (Meteor shower)

ดาวหาง (Comet)

เป็นบริวารชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ มีองค์ประกอบเป็นหินปนน้ำแข็ง มีวงโคจร
รีมาก เมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ความร้อนจะทำให้น้ำแข็งระเหิดเป็นไอ ลม
สุริยะพัดให้ก๊าซและฝุ่น พุ่งเป็นหางยาว วงโคจรของดาวหางเป็นวงรีมากบาง
ดวงมีวงโคจรที่ตัดกับวงโคจรของโลก เศษฝุ่นจากดาวหาง ถูกดูดให้ตกลง เสียดสีกับบรรยากาศโลก ลุกไหม้ติดไฟ ทำให้เรามองเห็นเป็น “ฝนดาวตก”
(Meteor shower)

อุกกาบาต (Meteoroid) และ ดาวตก (Meteor)

อุกกาบาต หมายถึงเศษวัตถุขนาดเล็กในอวกาศ(ส่วนใหญ่มีขนาดเท่าเม็ดทราย)
เมื่ออุกกาบาตถูกแรงโน้มถ่วงของโลก ดึงดูดให้ตกลงมา เสียดสีกับบรรยากาศ
ของโลกที่ระยะสูงประมาณ 70 – 80 กิโลเมตร เกิดความร้อนจนลุกไหม้ติดไฟ ทำให้เรามองเห็นเป็นทางยาว เรียกว่า “ดาวตก” หรือ “ผีพุ่งใต้” ในบางครั้ง
อุกกาบาตขนาดใหญ่ ลุกไหม้ไม่หมด ตกลงมาถึงพื้นโลก เราเรียกว่า “ก้อน
อุกกาบาต” (Meteorite)

ระบบของดาวฤกษ์ (Star)

ดาวฤกษ์ (Star)

หมายถึง ดาวซึ่งมีมวลสารจำนวนมหาศาล มีอุณหภูมิสูงและแผ่รังสี ซึ่งเกิดจาก
ปฏิกริยานิวเคลียร์ ดาวฤกษ์อยู่ไกลมาก แม้จะส่องมองด้วยกล้องโทรทรรศน์
ขนาดใหญ่ก็มองเห็นเป็นเพียงจุดแสง ดาวฤกษ์เพื่อนบ้านของเรามีชื่อว่า “อัลฟา เซนทอรี” (Alpha Centauri) เป็นระบบดาวฤกษ์สามดวง (มีดวงอาทิตย์สามดวง
โคจรรอบกันและกัน)อยู่ในกลุ่มดาวคนครึ่งสัตว์ ดวงที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มาก
ที่สุดชื่อ “ปร๊อกซิมา เซนทอรี” (Proxima Centauri) อยู่ห่างออกไป 40 ล้านล้าน
กิโลเมตร หรือ 4.2 ปีแสง (1 ปีแสง = ระยะทางซึ่งแสงใช้เวลานาน 1 ปี หรือ 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร) ดาวฤกษ์บางดวงมีดาวเคราะห์โคจรล้อมรอบ เช่นเดียว
กับดวงอาทิตย์ของเรา เราเรียกระบบสุริยะเช่นนี้ว่า “ระบบสุริยะอื่น” (Extra solar system)

เนบิวลา (Nebula)

หรือ หมอกเพลิง หมายถึง กลุ่มก๊าซซึ่งรวมตัวกำเนิดเป็นดาวเกิดใหม่ หรือ กลุ่ม
ก๊าซซึ่งเกิดจากการระเบิดของดาว เราแบ่งเนบิวลาตามความสว่างออกเป็น 2 ชนิดคือ “เนบิวลาสว่าง” (Emission nebula) ซึ่งได้รับแสงมาจากดาวฤกษ์ซึ่งอยู่
ข้างในกลุ่มก๊าซ และ “เนบิวลามืด” (Dark nebula) ซึ่งเป็นกลุ่มก๊าซหนาทึบบดบัง
แสงสว่างจากดาวฤกษ์ซึ่งอยู่ด้านหลัง เนบิวลาสว่างใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้
ง่าย ได้แก่ เนบิวลากลุ่มดาวนายพราน (M42)

กระจุกดาวเปิด (Open Cluster)

เมื่อหมอกเพลิงมีขนาดใหญ่ยุบตัว จะให้กำเนิดดาวฤกษ์จำนวนมาก อยู่ในบริเวณ
ใกล้ ๆ กัน กระจุกดาวเปิดที่มีชื่อเสียง และมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ได้แก่ กระจุก
ดาวลูกไก่ (M45) ในกลุ่มดาววัว (Taurus)
ระบบของกาแล็กซี (Galaxies System)

กาแล็กซี (Galaxy)

บางทีเรียกว่า “ดาราจักร” หมายถึง อาณาจักรของดาว ดาวมิได้กระจายตัวกัน
อยู่ในอวกาศ แต่อยู่รวมกันเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ กาแล็กซีของเรามีชื่อว่า “กาแล็กซีทางช้างเผือก” (The Milky Way galaxy) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง
ประมาณ 100,000 ปีแสง (1 ปีแสง = ระยะทางซึ่งแสงใช้เวลานาน 1 ปี หรือ 9.5ล้านล้านกิโลเมตร)เป็นอาณาจักรของดาวประมาณ 1 พันล้านดวงในกาแล็กซี
มีทั้ง ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ เนบิวลา และกระจุกดาวเปิด นอกจากกาแล็กซีทางช้างเผือกแล้ว ยังมี “กาแล็กซีแอนโดรมีดา” (M31) ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วย
ตาเปล่า เป็นจุดจาง ๆ ในกลุ่มดาวแอนโดรมีดา (Andromeda) กาแล็กซีนี้อยู่ห่างออกไป 2.3 ล้านปีแสง
กระจุกดาวทรงกลม (Globular cluster)
เป็นกระจุกดาวฤกษ์ซึ่งเกาะตัวกัน เป็นรูปทรงกลมคล้ายลูกบอล อยู่รายล้อมใจกลางของกาแล็กซี กาแล็กซีทางช้างเผือกมีกระจุกดาวทรงกลมรายล้อมอยู่
ไม่น้อยกว่า 150 กระจุก แต่ละกระจุกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 100 ปีแสง โดยมีดาวฤกษ์บรรจุอยู่ภายในนับแสน ถึงหลายล้านดวง กระจุกดาวทรง
กลมที่มีชื่อเสียงมีชื่อว่า “โอเมก้า เซนทอรี” (Omega Centauri) อยู่ในกลุ่มดาวคนครึ่งสัตว์ (Centaurus) ทางซีกฟ้าใต้ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า คล้าย
ดาวดวงเล็กหมายเหตุ: ภาพเทห์วัตถุแต่ละชนิดในภาพ มิได้อยู่ในมาตราส่วนเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น